วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ต้นถั่วพู


         
         ชื่อสามัญ : Winged bean
         ชื่อวิทยาศาสตร์ : Prosphocarpvs tetragonolobus (L.) DC
         วงศ์ : PAPILIONEAE

ถั่วพูเป็นพืชเขตร้อน ถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบประเทศ เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินเดีย พม่า ไทย ลาว ปาปัวนิวกินี และฟิลิปปินส์ ปัจจุบันปลูกได้ในมลรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา (ฤดูร้อน)

ถั่วพูเป็นพืชล้มลุก ลำต้นชนิดเลื้อยพันทอดเกี่ยวไปตามแนวต่างๆ

ใบของต้นถั่วพูมีลักษณะกลมสีเขียวเข้ม ดอกมีสีม่วงอ่อน เมื่อดอกได้รับการผสมเกสรแล้ว มันก็จะกลาย เป็นฝักไม่ยาวมากนัก และมีส่วนที่เป็นหยักตามขอบของฝัก ฝักมี 4 พู เมื่อแก่เต็มที่ฝักจะแห้งและมีสีน้ำตาล

ถั่วพูเป็นพืชที่ปลูกได้ง่าย นำเมล็ดแก่ฝังดินปลูกได้ทันที เจริญเติบโตได้ดีในทุกภาคของประเทศไทย นิยมปลูกกันตามริมรั้วหรือสวนหลังบ้าน หรือปลูกเป็นพืชหัวไร่ปลายนาสำหรับกินเป็นผักสวนครัว

ส่วนที่ใช้เป็นอาหาร
ยอดอ่อน ดอกอ่อน ใบอ่อน ฝักอ่อน รสมัน (กินเป็นผัก) และหัวใต้ดิน (กินเป็นอาหารแป้ง)

คนไทยทุกภาคกินฝักอ่อนถั่วพูเป็นผัก มีทั้งที่กินสด ลวกราดน้ำกะทิ กินแกล้มกับน้ำพริกต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำพริกปลาร้า อาจใช้ประกอบอาหารยำ ลาบ ผัดกับน้ำมัน นำมาหั่นใส่ในทอดมันหรือแกงเผ็ดก็ได้

ส่วนทางใต้กินยอดอ่อน ดอกอ่อน และฝักอ่อน เป็นผักสด หรือนำไปต้ม ผัด ใส่แกงส้ม แกงไตปลา
ญี่ปุ่นใช้ฝักอ่อนถั่วพูทอดเทมปุระ ปรุงอาหารกับเครื่องเทศรสจัดได้ทุกชนิด ฝักอ่อนดองไว้กินได้ด้วยตามความนิยมของชาวอินเดียและศรีลังกา

ถั่วพูมีคุณค่าทางโภชนาการเทียบเท่าถั่วเหลือง หากมองในแง่พืชที่เป็นแหล่งโปรตีนพบว่าเมล็ดถั่วพูให้โปรตีนสูงกว่าเมล็ดถั่วเหลือง และในทุกส่วนที่นำมากินได้ของถั่วพู (เช่น ดอก ใบอ่อน หัวใต้ดิน) ล้วนประกอบไปด้วยโปรตีนและธาตุอาหารต่างๆ ทั้งสิ้น เช่น ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม และเหล็ก

ในประเทศเพื่อนบ้านของไทยมีการกินหัวถั่วพู โดยนำมาต้มกินคล้ายหัวมัน หัวใต้ดินมีปริมาณโปรตีนร้อยละ 20-30 นักโภชนาการของไทยนำหัวถั่วพูมาแปรรูปเป็นแป้งสำหรับประกอบอาหารต่างๆ ได้ดี นำไปเชื่อมเป็นขนมหวานได้ รวมทั้งฝานเป็นแผ่นบางๆ ทอดกรอบแบบมันฝรั่งก็เป็นอาหารขบเคี้ยวโปรตีนสูงได้ด้วย แต่ไม่มีผู้ปลูกหัวถั่วพูในเชิงการค้า

เมล็ดถั่วพูแก่มีโปรตีนร้อยละ 29-37 มีกรดอะมิโนและกรดอะมิโนจำเป็นหลายชนิดคล้ายถั่วเหลือง มีน้ำมันร้อยละ16-18 สกัดเป็นน้ำมันพืชปรุงอาหารได้ น้ำมันที่ได้จากเมล็ดถั่วพูมีคุณสมบัติทางเคมีและฟิสิกส์ใกล้เคียงกับน้ำมันพืชอื่นๆ

น้ำมันเมล็ดถั่วพู
มีกรดโอเลอิกร้อยละ 39 กรดไลโนเลอิกร้อยละ 27 และพบกรดบีเฮนิกและกรดพารินาริกด้วย ไม่ทำให้เกิดคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด นอกจากนั้นในเมล็ดถั่วพูมีสารโทโคฟีรอลในปริมาณสูง สารนี้มีผลทำให้น้ำมันมีรสหวานและอยู่ตัว และมีคุณสมบัติต้านอ็อกซิเดชั่นช่วยชะลอความเสื่อมสภาพของเซลล์ร่างกายได้

สรรพคุณทางยา
รากใช้ประกอบสมุนไพรและน้ำดอกไม้ เป็นยาแก้โรคหัวใจและชูกำลัง หัวใต้ดินเผาหรือนึ่งกินช่วยบำรุงกำลัง เมล็ดแก่ของถั่วพู ตากแห้งบดเป็นผงละลายน้ำครั้งละ 5-6 กรัม กินวันละ 3 เวลา ก่อนอาหาร ช่วยบำรุงร่างกาย

สรรพคุณทางการเกษตร
ถั่วพูใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ดี ต้นเจริญได้ในดินเสื่อมโทรม ใช้ได้ทั้งในรูปของใบอ่อน เถาแห้ง เปลือกฝักหัวใต้ดิน และกากเมล็ดที่สกัดน้ำมันออกแล้ว เหมาะที่จะปลูกเป็นแปลงใหญ่แล้วปล่อยสัตว์เข้าไปแทะเล็มเองเหมือนทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ทั่วไป ได้คุณค่าอาหารมากกว่ากินหญ้า ทำให้มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี

นอกจากนี้ยังใช้ถั่วพูใช้เป็นพืชบำรุงดินได้ดี เนื่องจากปมรากของถั่วพูเป็นที่อาศัยของเชื้อไรโซเบียมที่มีคุณสมบัติในการตรึงไนโตรเจนจากอากาศ การปลูกถั่วพูจึงเป็นการเพิ่มไนโตรเจนแก่ดิน และหากไถกลบต้นถั่วพูหลังการเก็บผลผลิตแล้วจะกลายเป็นปุ๋ยพืชสดที่อุดมคุณค่าแก่ดิน

ถั่วพูกินได้ เลี้ยงสัตว์ได้ ปรับปรุงดินได้ ผลิตน้ำมันได้ เหมาะเป็นพืชยุคเศรษฐกิจพอเพียงที่สุด ทุกวันมีใบอ่อนดอกอ่อนปลิดให้กิน คนกรุงลองหาเมล็ดแก่มาหยอดใส่กระถางปลูกข้างหน้าต่างบ้างดีไหมคะ



อาหารจากถั่วพู

 ทอดมันถั่วพู

         
ส่วนประกอบ
 เนื้อปลากรายขูด                              500            กรัม
ถั่วพูหั่นฝอย                                       20              ฝัก

น้ำตาลปีบ                                           1               ช้อนโต๊ะ
น้ำปลาผสมกับน้ำสะอาด                    1               ถ้วย
พริกขี้หนูบุบละเอียด                          4 - 5           เม็ด
น้ำมันพืชสำหรับทอด                          2               ถ้วย
       
วิธีทำอาหาร
1. นำเนื้อปลากรายขูดมาสับให้ละเอียด โดยในขณะที่สับให้ค่อย ๆ หยอดน้ำปลาที่ผสมน้ำสะอาดลงไปทีละนิดจนน้ำหมด จากนั้นนำปลากรายที่สับละเอียดแล้วใส่ครกหินโขลกอีกครั้งเพื่อให้ทอดมันเหนียวหากอยากให้เหนียวมากก็ต้องใช้เวลาโขลกกันนานหน่อย
2. จากนั้นตักเนื้อปลาที่โขลกเสร็จใส่ชามผสมอาหาร แล้วปรุงรสด้วยน้ำตาลปีบกับพริกขี้หนูบุบ คลุกเคล้าให้เครื่องปรุงทุกอย่างเข้ากัน โดยการใช้มือขยำ(ควรใส่ถุงมือ เพื่อกันความเผ็ดร้อนจากพริกขี้หนู) ถั่วพูที่หั่นเตรียมไว้ลงไป คลุกเคล้าให้เขากัน
3. ปั้นทอดมันให้เป็นชิ้นขนาดตามต้องการ ทอดในน้ำมันพืชให้เหลือง ตักขึ้นให้สะเด็ดน้ำมัน
                                           

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น